วิธีโอนรถเปลี่ยนเจ้าของครบทุกขั้นตอน พร้อมบอกรายการเอกสารใช้โอนรถทั้งหมด
สำหรับคนที่มีความต้องการซื้อขายรถมือสอง ต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับการโอนรถอย่างละเอียดไว้ก่อน เพื่อที่คุณจะได้สามารถเตรียมความพร้อมได้อย่างดีเมื่อถึงเวลาที่ต้องโอนรถเปลี่ยนเจ้าของ ซึ่งในบทความนี้ เอเชียไดเร็ค จะพาทุกคนไปเจาะลึกข้อมูลอย่างละเอียดในเรื่องราวของการโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ ตั้งแต่มีกี่รูปแบบ, วิธีโอนรถมีกี่ขั้นตอน และเอกสารใช้โอนรถทั้งหมด หากอ่านจนครบคุณจะดำเนินการโอนด้วยตัวเองได้แบบง่าย ๆ โดยที่ไมหลงลืม หรือพลาดอะไรไปจนทำให้เกิดปัญหาภายหลัง
โอนรถเปลี่ยนเจ้าของ คือ อะไร
โอนรถเปลี่ยนเจ้าของ คือ การเปลี่ยนชื่อเจ้าของเดิมในเล่มทะเบียนรถ ให้เป็นชื่อเจ้าของรถยนต์คนใหม่ ดังนั้นทุกครั้งที่มีการซื้อขายรถมือสอง ตกลงราคาพร้อมโอน ต้องดำเนินการโอนรถควบคู่กันไปด้วย เพื่อป้องกันการนำรถยนต์ไปใช้ในทางที่ผิดกฎหมาย หรือถ้าหากเกิดปัญหาอะไรกับรถคันที่ได้ซื้อขายไปแล้ว เจ้าของใหม่ต้องเป็นผู้รับผิดชอบทุกเรื่องหลังการโอนรถเสร็จสิ้นนั่นเอง
โอนรถมีกี่รูปแบบ
ประเภทการโอนรถในปัจจุบันเราจะเห็นกันบ่อย ๆ 2 รูปแบบด้วยกัน คือ โอนตรง และโอนลอย ซึ่งจะมีรายละเอียดกระบวนการที่แตกต่างกันออกไปดังนี้
โอนรถ แบบโอนตรง
โอนรถ แบบโอนตรง เป็นวิธีการโอนแบบปกติหลังการซื้อขาย ผู้ขาย (เจ้าของเก่า) และผู้ซื้อ (เจ้าของใหม่) ต้องไปโอนรถต่อหน้านายทะเบียน ณ สำนักงานขนส่งในจังหวัดที่ได้จดทะเบียนเอาไว้ ซึ่งสภาพรถโดยรวมของคันที่มีการซื้อขาย ต้องตรงกับข้อมูลที่ระบุเอาไว้ในเล่มทะเบียน หากมีการปรับเปลี่ยน ดัดแปลงจนสภาพรถไม่ตรงกับข้อมูลในเล่ม คุณต้องมีการนำรถเข้าไปตรวจสภาพ หรือปรับเปลี่ยนข้อมูลให้เป็นปัจจุบันก่อน เว้นแต่ว่าจะเป็นการโอนเปิดบัญชีจากผู้ให้เช่าซื้อ (ไฟแนนซ์) ไปยังผู้เช่าซื้อที่ถือเป็นผู้ครอบครองรถตามรายการจดทะเบียน จึงไม่ต้องมีการตรวจสอบรถ
โอนรถ แบบโอนลอย
โอนรถ แบบโอนลอย คือ การโอนที่มีเป้าหมายเหมือนกัน เพียงแต่ว่าผู้ขายรถมอบเอกสารให้ผู้ซื้อได้ไปดำเนินการโอนด้วยตัวเอง ดูเป็นวิธีที่ได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่เต็นท์รถยนต์มือสอง เนื่องจากความสะดวกสบายหลาย ๆ ด้าน แต่ทั้งนี้ต้องระวังถ้าผู้ซื้อไม่ไปโอนในเวลาที่กำหนด แล้วมีการใช้รถคันนั้นไปทำสิ่งที่ผิดกฎหมาย ผู้ขายจะกลายเป็นผู้รับผิดชอบโดยทันที
โอนรถต้องแจ้งภายในกี่วัน
โอนรถต้องเข้าแจ้งนายทะเบียนที่สำนักงานขนส่งจังหวัดตามที่จดทะเบียนรถเอาไว้ โดยต้องแจ้งภายใน 15 วันนับตั้งแต่วันโอน กรณีที่ไม่มีการจัดการให้เสร็จตามช่วงเวลาที่กำหนด จะต้องระวางโทษปรับตามกฎหมายไม่เกิน 2,000 บาท เมื่อซื้อขายเสร็จแล้ว ควรรีบจัดการทันที
วิธีโอนรถ 4 ขั้นตอน
วิธีโอนรถในปัจจุบันสามารถเริ่มต้นได้ไม่ยากเพียง 4 ขั้นตอน แต่ต้องไปยังสำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานคร, สำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานครพื้นที่ และสำนักงานขนส่งจังหวัดหรือสำนักงานขนส่งจังหวัดสาขาที่ระบุไว้ในทะเบียน จากนั้นทำตามขั้นตอนดังนี้
- เตรียมรถยนต์เข้าตรวจสภาพเพื่อความถูกต้องของข้อมูลบนเล่มทะเบียน
- ทำการยื่นเรื่องขอโอนกรรมสิทธิ์และนำเงินชำระค่าธรรมเนียมฝ่ายงานทะเบียนรถ
- รับใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์คืนจากนายทะเบียน
- รับใบเสร็จรับเงิน ใบคู่มือจดทะเบียนรถ เครื่องหมายการเสียภาษี และแผ่นป้ายทะเบียนคืน
เพียงเท่านี้ก็เป็นอันเสร็จสิ้นกับขั้นตอนวิธีโอนรถทั้งหมด ถือว่าสั้น ๆ ง่าย ๆ และรวดเร็วค่อนข้างมากแล้วในปัจจุบัน เว้นแต่ว่าสำนักงานขนส่งที่คุณเข้าใช้งาน จะเป็นวันที่มีผู้คนเข้ามาใช้บริการเยอะเช่นกัน ฉะนั้นถ้าให้ดีอย่าลืมวางแผนให้เรียบร้อยหลังการซื้อขาย
เอกสารใช้โอนรถทั้งหมด
เอกสารใช้โอนรถทั้งหมดจะแบ่งเป็น 3 ชุด คือ เอกสารโอนรถเมื่อโอนตรง, โอนลอย และโอนให้ญาติหรือรับมรดก ซึ่งแต่ละชุดจะมีการใช้งานเอกสารที่แตกต่างกันออกไป เพื่อให้การโอนเป็นไปได้อย่างราบรื่นที่สุด แนะนำว่าควรอ่านให้ละเอียด และเตรียมความพร้อมเอกสารให้ครบถ้วน จะได้ไม่มีปัญหาเกิดขึ้นภายหลัง
เอกสารใช้โอนรถเมื่อโอนตรง
เอกสารใช้โอนรถเมื่อโอนตรง มีทั้งหมด 7 รายการดังนี้
- สัญญาการซื้อขายรถยนต์
- เล่มทะเบียนหรือคู่มือจดทะเบียนรถยนต์
- สำเนาบัตรประชาชนของผู้ขาย เซ็นสำเนาถูกต้อง กรณีเป็นนิติบุคคลต้องใช้หนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล พร้อมสำเนาบัตรประชาชนของกรรมการผู้มีอำนาจลงนาม
- สำเนาบัตรประชาชนของผู้ซื้อ เซ็นสำเนาถูกต้อง กรณีเป็นนิติบุคคลต้องใช้หนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล พร้อมสำเนาบัตรประชาชนของกรรมการผู้มีอำนาจลงนาม
- สำเนาป้ายภาษีหรือสำเนาใบเสร็จที่ได้รับจากกรมขนส่ง
- แบบฟอร์มขอโอนกรรมสิทธิ์และรับโอนจากกรมการขนส่งทางบก พร้อมกรอกข้อมูลผู้ขายและผู้ซื้ออย่างครบถ้วน
- ใบเสร็จ และใบกำกับภาษีการซื้อขาย
เอกสารใช้โอนรถเมื่อโอนลอย
เอกสารใช้โอนรถเมื่อโอนลอย มีทั้งหมด 8 รายการ เบื้องต้นจะเหมือนกับโอนรถแบบโอนตรง เพียงแต่มีหนังสือมอบอำนาจเพิ่มเติมเข้ามาเท่านั้นเอง
เอกสารใช้โอนรถเมื่อโอนให้ญาติ หรือรับมรดก
เอกสารใช้โอนรถเมื่อโอนให้ญาติ หรือรับมรดก กรณีนี้จะใช้เอกสารสำหรับการโอนรถทั้งหมด 7 รายการ โดยรายการที่ 1-6 จะเหมือนกับการโอนรถทั้ง 2 แบบด้านบน แต่เอกสารชุดที่ 7 เป็นหลักฐานในการยืนยันตัวตน ซึ่งมีแยกย่อยออกไปอีกประมาณ 5 รายการดังนี้
- สำเนาทะเบียนบ้าน สำหรับใช้โอนรถให้ญาติหรือครอบครัว
- ใบทะเบียนสมรส สำหรับใช้โอนรถให้สามีหรือภรรยา
- ใบมรณะบัตร สำหรับช่วงเวลารับมรดกจากเจ้าของเดิมที่เสียชีวิตไป (ต้องดำเนินการภายใน 15 วัน)
- สำเนาหนังสือรับรองนิติบุคคล พร้อมระบุวัตถุประสงค์ทุกหน้า (กรณีที่โอนแบบนิติบุคคลเป็นบุคคลธรรมดา)
ทั้งหมดนี้เป็นเอกสารสำหรับการโอนรถที่ควรเตรียมให้พร้อม เมื่อเรารู้เป้าหมายแล้วว่าต้องการโอนแบบไหน หากเราเตรียมพร้อมครบถ้วนเรียบร้อยดี ขั้นตอนการโอนรถทั้งหมดจะราบรื่นไร้ปัญหา ไม่ต้องเสียเวลากับมาโอนใหม่เพราะเอกสารไม่ครบหรือผิดพลาดไป
โอนรถใช้เงินเท่าไหร่
ค่าใช้จ่ายในการโอนรถยนต์จะมีทั้งหมด 4 รายการหลัก ๆ เมื่อไปทำที่สำนักงานขนส่ง ได้แก่ ค่าคำขอ 5 บาท, ค่าธรรมเนียมการโอน 100 บาท, ค่าธรรมเนียมการตรวจสภาพรถ 50 บาท และค่าอากรแสตมป์ 500 บาท (ต่อการประเมิณราคารถ 100,000 บาท) ซึ่งค่าใช้จ่ายโอนรถตรงนี้ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ ก็ควรมีการพูดคุยตกลงกันให้ดีก่อนที่การซื้อขายจะจบลง เพราะเมื่อเดินทางมาที่สำนักงานขนส่งแล้ว ต้องมีการชำระเงินทุกรายการที่กล่าวมาให้ครบถ้วนในครั้งเดียว
สรุปข้อมูลการโอนรถยนต์ทั้งหมด
สรุปภาพรวมของการโอนรถยนต์ คุณต้องเริ่มต้นจากการตกลงซื้อขายให้สำเร็จ พร้อมชี้แจงชัดเจนระหว่างผู้๙อกับผู้ขาย ว่าใครจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการโอน หลังจากนั้นทั้งคู่เตรียมเอกสารให้พร้อมตามรูปแบบการโอนรถที่เราได้ระบุเอาไว้ในหัวข้อเอกสารใช้โอนรถ เดินทางไปที่สำนักงานขนส่งที่ระบุเอาไว้ในเล่มทะเบียน เพื่อยื่นคำขอโอนกรรมสิทธิ์ โดยปกติแล้วจะใช้เวลาประมาณ 2-3 ชั่วโมงในการดำเนินการให้เสร็จทุกขั้นตอนพร้อมรับเล่มทะเบียน เว้นแต่ว่าจะติดปัญหาเรื่องผู้เข้าใช้บริการเยอะเกินไป หรือเตรียมเอกสารมาไม่ครบ อาจต้องใช้เวลานานสุดถึง 15 วันเลยทีเดียว (อ้างอิงข้อมูลจากกรมขนส่งจังหวัดเพชรบูรณ์) ดังนั้นเรื่องเอกสารควรเช็กให้ละเอียด ห้ามพลาดเด็ดขาดเลยทีเดียว
พอโอนรถเสร็จเรียบร้อยแล้ว คุณเข้าของรถคนใหม่อย่าลืมเลือกทำประกันรถยนต์ที่เหมาะสมกับการใช้งาน หรือสภาพรถยนต์ ณ เวลานั้นเผื่อเอาไว้ด้วย เพื่อที่รถยนต์ของเราจะได้รับการดูแลคุ้มครองอย่างครบถ้วนตามความต้องการ เช่น หากเป็นรถยนต์ที่ซื้อมาเพื่อใช้งานประจำวัน ควรทำประกันรถชั้น 2+ ที่ค่อนข้างครอบคลุมใกล้เคียงประกันรถชั้น 1 แถมมีค่าเบี้ยประกันที่ถูกกว่า หรือถ้าใครอยากสอบถาม ขอคำปรึกษาการเลือกประกันรถยนต์ที่ดีที่สุดสำหรับคุณ สามารถติดต่อเข้ามาหา เอเชียไดเร็ค ได้ที่เบอร์ 02-089-2000 หรือไลน์แอด @asiadirect ติดต่อได้ 24 ชั่วโมง
นักเขียนรุ่นไฮบริดกว่า 7 ปี ผู้พยายามเข้าใจมักเกิ้ล นิยมชมชอบกลางคืน สามารถผูกมิตรได้ด้วยของกินอร่อยๆ ตอนนี้กำลังหลบลี้หนีภัยจากออฟฟิศซินโดรมอยู่